ภูมิปัญญาไทย
^
+
+
กดเลย
ภูมิปัญญาไทย
ภูมิปัญญา ไทย หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งทางสังคม และเศรษฐกิจ เนื่องจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เกิดขึ้นจากความรอบรู้ ประสบการณ์ แนวคิดที่สังคม หรือชุมชนได้ถ่ายทอด สืบสานต่อกันมา ด้วยคนไทยแต่โบราณ มีภูมิปัญญาฉลาดล้ำลึก ในการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์ เพื่อใช้ประโยชน์ จากสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เพื่อการดำรงชีวิตอย่างสุขกาย สบายใจ โดยเฉพาะภูมิปัญญาด้านปัจจัยพื้นฐาน แห่งการดำรงชีพ ประกอบด้วยความสามารถ ในการแสวงหาอาหาร การปลูกสร้างที่อยู่อาศัย การคิดค้นประดิษฐ์สิ่งทอ เพื่อการนุ่งห่ม และความรู้ในการบำบัดรักษา โรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งช่วยให้สังคมไทย นับแต่อดีตดำรงอยู่ได้อย่างสุขสงบ สืบถึงปัจจุบัน
ภูมิปัญญาเหล่านี้เสริมสร้างคุณลักษณะแก่สังคมไทย ให้รู้จักการผ่อนสั้น ผ่อนยาว ผ่อนหนักให้เป็นเบา ผ่อนร้ายให้กลายเป็นดี มีความมัธยัสถ์อดออม จนเกิดเป็นความมั่นคงในทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ แบบพึ่งพาตนเอง ได้ในลักษณะแบบพอมีพอกิน สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ เพื่อการพัฒนาประเทศ ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมไปจนถึงมี ระบบการจัดการด้านทรัพยากรดิน แร่ธาตุ ป่าไม้ แหล่งน้ำอย่างทรงประสิทธิภาพ
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
พื้นความรู้ความสามารถที่ได้รับการสั่งสมถ่ายทอดกันมา และนำมาปรับใช้รวมกับความรู้ และประสบการณ์ของตนเอง ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่น
ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการทำมาหากิน
ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น การทำนา ทำสวน ทำไร่ จับสัตว์น้ำ ทอผ้า ค้าขาย
ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการรักษาโรค
ภูมิปัญญาที่ใช้ในการดูแลรักษา และแก้ปัญหาสุขภาพ เช่น การใช้สมุนไพรเป็นยาและอาหาร พืชสมุนไพร หมอพื้นบ้าน และการแพทย์แผนโบราณ
ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการกินอยู่
ภูมิปัญญาที่ใช้ในการถนอมอาหาร การปรุงอาหาร การกินอาหาร
ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านศิลปกรรม
ภูมิปัญญาที่ปรากฏในผลงานสร้างสรรค์ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และนาฏกรรม
ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านภาษาและวรรณกรรม
ภูมิปัญญาที่ปรากฏในผลงานสร้างสรรค์ด้านภาษาและสำนวนไทย เช่น คำผญา คำสอน ความเชื่อ ปริศนาคำทาย และ บทเพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงแหล่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงฉ่อย กลอนลำ เพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ
ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี
ภูมิปัญญาที่ใช้ในการปรับประยุกต์พิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความมั่นคง ของชุมชน ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ประเพณีการเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย ฯลฯ
ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภูมิปัญญาที่ใช้ในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ เช่น การสร้างเขื่อน เหมือง ฝาย การควบคุมคุณภาพน้ำ การป้องกัน น้ำท่วม การจัดการป่าไม้ เช่น การปลูกสวนป่า และการอนุรักษ์ป่า
ที่มา: วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณะ และภูมิปัญญา จังหวัดชลบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544. 354 หน้า.
***************************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น